คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย (FAQ)-วิธีช่วยคนตกน้ำ 


 

คำถาม  :  อยากทราบว่าการผายปอดโดยการเมาส์ทูเมาส์ทำอย่างไร ?

คำตอบ  :   วิธีการผายปอดโดยการทำ mouth to mouth นั้น ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า เราต้องหายใจเข้าเอาออกซิเจนไปฟอกโลหิตดำให้เป็นโลหิตแดง จากนั้นโลหิตแดงจะเอาออกซิเจน ไปเลี้ยงเซลต่างๆ ในร่างกายโดยเฉพาะเซลสมอง ซึ่งถ้าหากขาดออกซิเจนเพียง 4 นาที เซลสมองก็จะเกิดความเสียหาย ดังนั้นเมื่อคนจมน้ำถูกรัดคอแขวนคอ หรือมีสิ่งแปลกปลอม มาอุดตันหลอดลม (เช่น ลูกอมเมล็ดผลไม,้ ข้าวเหนียวซาลาเปา หรือขนมชั้นฯ) อยู่ในห้องที่มีแก๊สหรืออยู่ในรถที่มีคาร์บอนมอนนอกไซด์ (ไอเสียรถยนต์) ถูกไฟดูดฟ้าผ่า ฯลฯ มีหลายสาเหตุที่ทำให้หายใจไม่ได้ ซึ่งหากเราขาดอากาศหายใจเพียง 4 นาที เซลสมองก็จะเสียหาย เมื่อเซลสมองเสียหาย แล้วช่วยไม่ทันก็ตาย หรือถ้าหากไม่ตายก็อาจกลายเป็นเจ้าชาย หรือเจ้าหญิงนิทรา โดยปกติอากาศรอบๆ ตัวเรามีออกซิเจนปนอยู่ประมาณ 21 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเราหายใจเข้าเอาออกซิเจนเข้าไปในปอดเพื่อฟอกโลหิตดำเป็นโลหิตแดง (การแลกเปลี่ยนออกซิเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์) ขั้นตอนนี้ใช้ออกซิเจนไป 4 เปอร์เซ็นต์ เหลือออกซิเจนกลับออกมากับลมหายใจออก 17 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเพียงพอ สำหรับความต้องการของคนจมน้ำ (ขาดอากาศหายใจ) ดังนั้นเมื่อเราเป่าลมหายใจออกของเรา ผ่านเข้าไปทางปากของเขา ปอดของเขาก็จะได้รับออกซิเจนเพียงพอ ที่จะฟอกโลหิตดำให้เป็นโลหิตแดง แล้วส่งไปให้หัวใจซึ่งจะทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตแดง นำเอาออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ส่วนการทำ Mouth to mouth นั้น เราจะต้องนั่งคุกเข่าคร่อมหัวไหล่ทางด้านข้างของผู้ประสบภัย สมมุติว่าเรานั่งคุกเข่า คร่อมหัวไหล่ซ้ายของผู้ประสบภัย มือขวาของเราจะอยู่ด้านบน หรือด้านศีรษะของผู้ประสบภัย จากนั้นใช้ด้านข้างของฝ่ามือขวาที่ต่อลงมาจากนิ้วก้อย กดที่หน้าผากตรงรอยต่อกับผม ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางของมือซ้าย ดึงกระดูกกรามด้านข้าง ๆ คางของผู้ประสบภัย ให้ใบหน้าของผู้ประสบภัยเงยขึ้นให้มากที่สุด เพื่อให้ทางเดินอากาศ (หลอดลม) เปิดกว้างที่สุด จากนั้นเราจะใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้มือขวา ซึ่งกดหน้าผากของผู้ประสบภัยอยู่บีบจมูกของผู้ประสบภัย พร้อมกับอ้าปากของเรา ครอบริมฝีปากของผู้ประสบภัยให้มิด เป่าลมหายใจออกของเราเข้าไปประมาณ 500 ซีซี พอ ๆ กับการหายใจออกตามปกติหรือมากกว่าเล็กน้อย เมื่อเป่าลมเข้าไปเสร็จแล้ว จึงยกปากของเราขึ้นจากการครอบ และขณะเดียวกันก็ปล่อยนิ้วที่บีบจมูกของผู้ประสบภัย เพื่อให้อากาศไหลกลับออกมา ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 4–5 วินาที จากนั้นก็บีบจมูกประกบปากเป่าใหม่ จังหวะในการทำก็ประมาณ 20 ครั้งต่อ 1 นาที ทำเช่นนี้ต่อเนื่องไปจนกว่าเขาจะกลับมาหายใจได้เอง หรือมีแพทย์ พยาบาลมารับช่วงต่อจากเรา การช่วยหายใจด้วยวิธี Mouth to mouth และการเปิดทางเดินอากาศนี้สามารถทำได้ ทั้งในท่านั่งในรถยนต์ท่านอน ยืนอยู่ในน้ำตื้น หรือลอยตัวพร้อมอุปกรณ์ในน้ำลึก จะเห็นได้ว่าการทำ Mouth to mouth สามารถทำได้แทบทุกสถานที่ทันทีที่เราสัมผัสตัวผู้ประสบภัย ซึ่งจะทำให้ผู้ประสบภัยมีโอกาสรอดชีวิตได้มากขึ้น เนื่องจากสมองของผู้ประสบภัยจะขาดออกซิเจนได้ไม่เกิน 4 นาที ถ้าหากเกิน เซลสมองก็จะเริ่มเสียหายจนไปถึงขั้นเสียชีวิต  แต่การทำ Mouth to mouth นี้มักจะต้องทำควบคู่ไปกับการนวดหัวใจ เพราะเป็นอาการที่ต่อเนื่องกันของผู้ประสบภัย คือหลังจากขาดอากาศหายใจได้สักพักหนึ่ง หัวใจก็จะหยุดเต้นซึ่งเสียชีวิตแน่นอน ดังนั้นเมื่อเราทำ Mouth to mouth ให้ 2 ครั้งแรก จากนั้นเราจะต้องตรวจชีพจรดูว่าระบบไหลเวียนโลหิตทำงานหรือไม่ (หัวใจเต้น) ซึ่งจะนำออกซิเจนไปเลี้ยงเซลตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้นในการฝึกเราจึงต้องฝึกการผายปอด และนวดหัวใจควบคู่กันไป หากคนไทยได้รับการฝึกให้สามารถกู้ชีพด้วยการผายปอด และนวดหัวใจได้ละก็ จะเป็นการเพิ่มโอกาสของการรอดชีวิตให้แก่ผู้ประสบภัยได้มากขึ้นแน่นอน การอบรมเรื่องการปฐมพยาบาลการกู้ชีพด้วยการผายปอดและนวดหัวใจนั้น มีอบรมที่สภากาชาดไทย โดยใช้เวลา 5 วัน นอกจากนี้ก็มีที่โรงพยาบาลกรุงเทพโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และที่สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ถ้าหากสนใจจะเข้ารับการอบรมที่สมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำก็ได้ เราอบรมทั้งการช่วยคนตกน้ำ การเอาชีวิตรอดจากอุบัติภัยทางน้ำ รวมทั้งการผายปอด และนวดหัวใจด้วย