เนื้อหา

 

คำถามที่พบบ่อย

In เนื้อหา By Super User / April 27, 2024

คำถามที่พบบ่อย (FAQ)-วิธีช่วยคนตกน้ำ    คำถาม  :  อยากทราบว่าการผายปอดโดยการเมาส์ทูเมาส์ทำอย่างไร ? คำตอบ  :   วิธีการผายปอดโดยการทำ mouth to mouth นั้น ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า เราต้องหายใจเข้าเอาออกซิเจนไปฟอกโลหิตดำให้เป็นโลหิตแดง จากนั้นโลหิตแดงจะเอาออกซิเจน ไปเลี้ยงเซลต่างๆ ในร่างกายโดยเฉพาะเซลสมอง ซึ่งถ้าหากขาดออกซิเจนเพียง 4 นาที เซลสมองก็จะเกิดความเสียหาย ดังนั้นเมื่อคนจมน้ำ, ถูกรัดคอ, แขวนคอ หรือมีสิ่งแปลกปลอม มาอุดตันหลอดลม (เช่น ลูกอม, เมล็ดผลไม,้ ข้าวเหนียว, ซาลาเปา หรือขนมชั้นฯ) อยู่ในห้องที่มีแก๊สหรืออยู่ในรถที่มีคาร์บอนมอนนอกไซด์ (ไอเสียรถยนต์) ถูกไฟดูด, ฟ้าผ่า ฯลฯ มีหลายสาเหตุที่ทำให้หายใจไม่ได้ ซึ่งหากเราขาดอากาศหายใจเพียง 4 นาที เซลสมองก็จะเสียหาย เมื่อเซลสมองเสียหาย แล้วช่วยไม่ทันก็ตาย หรือถ้าหากไม่ตายก็อาจกลายเป็นเจ้าชาย หรือเจ้าหญิงนิทรา โดยปกติอากาศรอบๆ ตัวเรามีออกซิเจนปนอยู่ประมาณ 21 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเราหายใจเข้าเอาออกซิเจนเข้าไปในปอดเพื่อฟอกโลหิตดำเป็นโลหิตแดง (การแลกเปลี่ยนออกซิเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์) ขั้นตอนนี้ใช้ออกซิเจนไป 4 เปอร์เซ็นต์ เหลือออกซิเจนกลับออกมากับลมหายใจออก 17 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเพียงพอ สำหรับความต้องการของคนจมน้ำ (ขาดอากาศหายใจ) ดังนั้นเมื่อเราเป่าลมหายใจออกของเรา ผ่านเข้าไปทางปากของเขา ปอดของเขาก็จะได้รับออกซิเจนเพียงพอ ที่จะฟอกโลหิตดำให้เป็นโลหิตแดง แล้วส่งไปให้หัวใจซึ่งจะทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตแดง นำเอาออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ส่วนการทำ Mouth to mouth นั้น เราจะต้องนั่งคุกเข่าคร่อมหัวไหล่ทางด้านข้างของผู้ประสบภัย สมมุติว่าเรานั่งคุกเข่า คร่อมหัวไหล่ซ้ายของผู้ประสบภัย มือขวาของเราจะอยู่ด้านบน หรือด้านศีรษะของผู้ประสบภัย จากนั้นใช้ด้านข้างของฝ่ามือขวาที่ต่อลงมาจากนิ้วก้อย กดที่หน้าผากตรงรอยต่อกับผม ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางของมือซ้าย ดึงกระดูกกรามด้านข้าง ๆ คางของผู้ประสบภัย ให้ใบหน้าของผู้ประสบภัยเงยขึ้นให้มากที่สุด เพื่อให้ทางเดินอากาศ (หลอดลม) เปิดกว้างที่สุด จากนั้นเราจะใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้มือขวา ซึ่งกดหน้าผากของผู้ประสบภัยอยู่บีบจมูกของผู้ประสบภัย พร้อมกับอ้าปากของเรา ครอบริมฝีปากของผู้ประสบภัยให้มิด เป่าลมหายใจออกของเราเข้าไปประมาณ 500 ซีซี พอ ๆ กับการหายใจออกตามปกติหรือมากกว่าเล็กน้อย เมื่อเป่าลมเข้าไปเสร็จแล้ว จึงยกปากของเราขึ้นจากการครอบ และขณะเดียวกันก็ปล่อยนิ้วที่บีบจมูกของผู้ประสบภัย เพื่อให้อากาศไหลกลับออกมา ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 4–5 วินาที จากนั้นก็บีบจมูกประกบปากเป่าใหม่ จังหวะในการทำก็ประมาณ 20 ครั้งต่อ 1 นาที ทำเช่นนี้ต่อเนื่องไปจนกว่าเขาจะกลับมาหายใจได้เอง หรือมีแพทย์ พยาบาลมารับช่วงต่อจากเรา การช่วยหายใจด้วยวิธี Mouth to mouth และการเปิดทางเดินอากาศนี้สามารถทำได้ ทั้งในท่านั่งในรถยนต์, ท่านอน ยืนอยู่ในน้ำตื้น หรือลอยตัวพร้อมอุปกรณ์ในน้ำลึก จะเห็นได้ว่าการทำ Mouth to mouth สามารถทำได้แทบทุกสถานที่ทันทีที่เราสัมผัสตัวผู้ประสบภัย ซึ่งจะทำให้ผู้ประสบภัยมีโอกาสรอดชีวิตได้มากขึ้น เนื่องจากสมองของผู้ประสบภัยจะขาดออกซิเจนได้ไม่เกิน 4 นาที ถ้าหากเกิน เซลสมองก็จะเริ่มเสียหายจนไปถึงขั้นเสียชีวิต  แต่การทำ Mouth to mouth นี้มักจะต้องทำควบคู่ไปกับการนวดหัวใจ เพราะเป็นอาการที่ต่อเนื่องกันของผู้ประสบภัย คือหลังจากขาดอากาศหายใจได้สักพักหนึ่ง หัวใจก็จะหยุดเต้นซึ่งเสียชีวิตแน่นอน ดังนั้นเมื่อเราทำ Mouth to mouth ให้ 2 ครั้งแรก จากนั้นเราจะต้องตรวจชีพจรดูว่าระบบไหลเวียนโลหิตทำงานหรือไม่ (หัวใจเต้น) ซึ่งจะนำออกซิเจนไปเลี้ยงเซลตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้นในการฝึกเราจึงต้องฝึกการผายปอด และนวดหัวใจควบคู่กันไป หากคนไทยได้รับการฝึกให้สามารถกู้ชีพด้วยการผายปอด และนวดหัวใจได้ละก็ จะเป็นการเพิ่มโอกาสของการรอดชีวิตให้แก่ผู้ประสบภัยได้มากขึ้นแน่นอน การอบรมเรื่องการปฐมพยาบาลการกู้ชีพด้วยการผายปอดและนวดหัวใจนั้น มีอบรมที่สภากาชาดไทย โดยใช้เวลา 5 วัน นอกจากนี้ก็มีที่โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และที่สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ถ้าหากสนใจจะเข้ารับการอบรมที่สมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำก็ได้ เราอบรมทั้งการช่วยคนตกน้ำ การเอาชีวิตรอดจากอุบัติภัยทางน้ำ รวมทั้งการผายปอด และนวดหัวใจด้วย

 

การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ

In เนื้อหา By Super User / April 27, 2024

การช่วยเหลือ มี 2 วิธี 1. ผู้ช่วยอยู่บนฝั่งบนตลิ่งบนเรือ  ผู้ช่วยไม่เปียก ปลอดภัยแน่นอน จากนั้นก็ช่วยด้วย     1.1 การยื่นอุปกรณ์ให้คนตกน้ำจับ เช่น เสื้อ กางเกง ผ้าขาวม้า ผ้าเช็ดตัว เข็มขัด กิ่งไม้ ท่อนไม้ ไม้ง่ามลูกเสือ ตามสระว่ายน้ำก็จะมี HOOK (ไม้ตะขอ) เตรียมไว้สำหรับช่วยผู้ประสบภัย     1.2  การโยนอุปกรณ์ที่ลอยน้ำให้คนตกน้ำจับหรือเกาะ เช่น ขวดน้ำ ถังพลาสติก ห่วงชูชีพ ยางในรถยนต์ และเราอาจจะเอาเชือกมาผูกอุปกรณ์เหล่านั้น เพื่อที่จะลากคนตกน้ำเข้าฝั่ง หรือหากโยนพลาดก็สาวเข้ามาแล้วโยนให้อีกครั้งหนึ่ง     1.3  การลุยน้ำออกไปช่วย ในพื้นที่ที่ระดับน้ำตื้นยืนถึง เช่น ในลำธาร น้ำตก หรือชายทะเล ที่เราสามารถจะลุยน้ำออกไปได้ ก็ควรจะลุยน้ำออกไปแล้วใช้อุปกรณ์ตามข้อ 1.1 หรือ 1.2 ยื่น หรือโยนให้คนตกน้ำจับแล้วพาเข้าฝั่ง ข้อ 1.1-1.3 เป็นวิธีการช่วยคนตกน้ำที่มีความปลอดภัยเกือบจะ 100 % เพราะเราผู้ช่วยอยู่บนฝั่งหรือยืนได้ในน้ำตื้น     1.4  การใช้เรือออกไปช่วยเรือในที่นี้หมายถึงเรือหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่มีขนาดใหญ่พอควร ลอยน้ำได้ แล้วตัวเราอยู่ข้างบนหรือข้างใน เช่น กระดานโต้คลื่น กระดานเล่นใบ เจ็ทสกี เรือพาย เรือแคนู เรือกรรเชียง เรือใบ ฯลฯ ประเภทเรือนี่มีหลายขนาดนัด ปกติเมื่อเคลื่อนเข้าไปใกล้ตัวคนตกน้ำ ก็จะใช้อุปกรณ์ตามข้อ 1.1, 1.2 ยื่นหรือโยนให้คนตกน้ำจับแล้วพาเข้าหาเรือ หากเป็นเรือขนาดเล็ก ต้องระมัดระวังหากจะให้คนตกน้ำปีนขึ้นทางกราบเรือ เรืออาจจะพลิกคว่ำได้ ดังนั้นหากเป็นไปได้ ให้ขึ้นทางท้ายเรือ อย่าลืมดับเครื่องด้วยหากเป็นเรือเครื่องที่มีใบพัด แต่ถ้าเป็นเรือใหญ่ ๆ จะขึ้นด้านใดก็ได้   2.  การกระโดดลงน้ำแล้วว่ายเข้าไปช่วยคนจมน้ำ หรือตกน้ำ  วิธีแบบนี้อันตรายมาก เพราะจะทำให้คนช่วยเสียชีวิตมาเยอะแล้ว เนื่องจากไม่รู้วิธีการช่วยที่ถูกต้อง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมทั้งนักว่ายน้ำ คนว่ายน้ำเก่ง ๆ ตายเพราะว่ายน้ำเข้าไปช่วย     2.1 การลงน้ำไปช่วยคนตกน้ำ จมน้ำ จำไว้ว่าต้องเอาอุปกรณ์ช่วยไปด้วย เช่น แท่งโฟมยาว ๆ (Kick board ซึ่งถ้าหากเล็กและสั้นเกินไป ก็จะไม่ปลอดภัย) ห่วงหรือยางในรถยนต์ หรือเราใส่เสื้อชูชีพไป เมื่อว่ายน้ำเข้าไปจวนถึงตัวคนตกน้ำ ให้หยุดอยู่ห่าง ๆ แล้วใช้อุปกรณ์ที่เอาไปด้วยยื่น หรือโยนให้คนตกน้ำเกาะ อย่าพยายามเข้าไปจนถึงตัวคนตกน้ำ เพราะเขาอาจจะเข้ามากอดเราแน่นเสียจนแกะไม่ออก และจะพาเราจมน้ำไปด้วย หากไม่มีอุปกรณ์ก็ให้ใช้ผ้าเช็ดตัวตัว ผ้าขาวม้า เข็มขัด หรืออะไรก็ได้ที่ยาว ๆ หน่อย จะได้ป้องกันไม่ให้เราต้องเข้าไปใกล้เขามากเกินไป ถ้าเป็นอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ก็จะดีมาก เพราะเมื่อยื่นให้เขาจับหรือเกาะแล้วเขาก็จะลอยน้ำอยู่ได้ ความตื่นตกใจก็จะลดลง ทำให้เราช่วยได้ปลอดภัยมากขึ้น หากยื่นให้แล้วเขายังตกใจ และโผเข้ามาจะกอดเรา ก็ให้รีบดำน้ำหนี รับรองเขาไม่ดำตามเราลงไปแน่ ๆ     2.2 การลาก/พา           2.2.1  การลาก / พา คนจมน้ำที่สงบพวกว่ายน้ำเป็น หมดแรง หรือเป็นตะคริว ไม่ตื่นตกใจ ลากพาง่าย เบาแรง ไม่ค่อยมีอันตราย          2.2.2  การลาก / พา คนจมน้ำที่ตื่นตกใจ กลัวจมน้ำตาย พวกนี้ต้องใช้ท่า Cross chest (เอารักแร้เราหนีบบนบ่าคนจมน้ำ แขนพาดผ่านหน้าอกแบบสะพายแล่ง ไปจับซอกรักแร้อีกด้านของคนจมน้ำ) ว่ายน้ำด้วยท่า Side stroke ท่านี้เหนื่อยหนักแรง และมีอันตรายมากๆ          2.2.3  คนจมน้ำที่สลบ ต้องใช้ท่าลาก / พา ที่ประคองหน้าคนจมน้ำให้พ้นน้ำตลอด เพื่อที่ปากและจมูกของเขาจะพ้นน้ำ ทำให้หายใจได้ตลอด